พระดำรัสพระสันตะปาปาฟรานซิส
เมื่อวันเสาร์ที่ 4 มกราคม 2568 ต่อครูและนักการศึกษาคาทอลิก
-----------------------
-
-
-
-
- โป๊ปฟรานซิส เตือน อย่าให้มีการบูลลี่ในโรงเรียน เพราะมันคือการเตรียมสงคราม ไม่ใช่สันติภาพ
- ย้ำ คนเป็นครูและนักการศึกษาต้องเข้าหาลูกศิษย์ตามแบบพระเจ้า “ใกล้ชิด เห็นอกเห็นใจ และอ่อนโยน” เหมือนพระเจ้าเข้าหามนุษย์ เพื่อสอนภาษาแห่งชีวิตและความรัก
- เตือนสติ อยู่กับครอบครัว ต้องคุยกัน ไม่ใช่ก้มหน้าเล่นโทรศัพท์ ครอบครัวคือการสนทนา ไม่มีอะไรมาแทนที่ครอบครัวได้
-
-
-
-------
ช่วงสายวันเสาร์ที่ 4 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา พระสันตะปาปา ฟรานซิส ทรงต้อนรับ 3 หน่วยงานสมาคมที่มาเข้าเฝ้า ได้แก่
สหภาพครู ผู้บริหาร นักการศึกษา และครูคาทอลิก สมาคมครูคาทอลิกอิตาลี และสมาคมผู้ปกครองโรงเรียนคาทอลิก
ใจความสำคัญของพระดำรัสที่พระสันตะปาปาตรัส มีหลายข้อ Pope Report สรุปให้ดังนี้
1. วิธีการสอนของพระเจ้า พระสันตะปาปาตรัสว่า “ช่วงเทศกาลคริสต์มาส เราได้เห็นวิธีการสอนของพระเจ้า นั่นคือ
ความใกล้ชิด ความเห็นอกเห็นใจ และความอ่อนโยน นี่คือคุณลักษณะสามประการของพระเจ้า พระองค์ทรงเป็นเหมือนครูที่เข้าไปในโลกของลูกศิษย์ เลือกที่จะอยู่ท่ามกลางมนุษย์เพื่อสอนผ่านภาษาแห่งชีวิตและความรัก”
2. ครอบครัวต้องมาก่อน พระสันตะปาปา เล่าเรื่องที่พระองค์ได้ฟังมาว่า “มีคนเล่าให้พ่อฟังว่า วันหนึ่งเขากำลังทานอาหารกลางวันในร้านอาหาร และโต๊ะข้างๆ มีครอบครัวหนึ่ง พ่อ แม่ ลูกชาย และลูกสาว ทั้งสี่คนจดจ่อกับโทรศัพท์มือถือของตัวเอง ไม่พูดคุยกันเลย ชายคนนั้นรู้สึกบางอย่าง จึงเข้าไปหาและพูดว่า ‘เฮ้ พวกคุณเป็นครอบครัวกันนะ ทำไมไม่คุยกันหน่อย แบบนี้มันแปลกนะ’ … ทั้งสี่คนได้ยินชายคนนี้พูด ไม่พอใจแล้วก็ไล่เขาไป และก้มหน้าเล่นโทรศัพท์ต่อไปแบบนั้น พระสันตะปาปา ย้ำว่า “ได้โปรดเถิด ในครอบครัวต้องพูดคุยกัน ครอบครัวคือการสนทนา การสนทนาทำให้เราเติบโต ไม่มีอะไรมาทดแทนครอบครัวได้ ครอบครัวอยู่ตรงกลางของทุกสิ่ง อย่าลืมสิ่งนี้”
3. โรงเรียนแห่งความหวัง พระสันตะปาปา กล่าวว่า “ครูที่ดีคือชายหรือหญิงแห่งความหวัง เพราะพวกเขาทุ่มเทตนเองด้วยความมั่นใจและความอดทนต่อโครงการแห่งการเติบโตของมนุษย์ ความหวังของพวกเขาไม่ได้ไร้เดียงสา แต่หยั่งรากในความเป็นจริง ได้รับการค้ำจุนด้วยความเชื่อมั่นว่าความพยายามทางการศึกษาทุกอย่างมีคุณค่า และทุกคนมีศักดิ์ศรีและกระแสเรียกที่สมควรได้รับการบ่มเพาะ"
4. อย่าบูลลี่ (อย่ารังแก) พระสันตะปาปาทรงเน้นว่า การต่อต้านการบูลลี่เป็นส่วนสำคัญของการสร้างวัฒนธรรมแห่งสันติภาพในโรงเรียน และเป็นความรับผิดชอบของทุกคนในชุมชนการศึกษา“ ในโรงเรียน เราต้องสามารถจินตนาการถึงสันติภาพได้ เพราะนี่คือการวางรากฐานสำหรับโลกที่ยุติธรรมและเป็นพี่น้องกัน
…แต่ถ้าในโรงเรียนท่านทำสงครามระหว่างกัน ถ้าในโรงเรียนท่านบูลลี่ (รังแก) เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายที่มีปัญหา นั่นคือการเตรียมสงคราม ไม่ใช่สันติภาพ”
พระสันตะปาปาทรงขอร้องว่า “ได้โปรดเถอะ อย่าบูลลี่กันเลย ท่านเข้าใจไหม” (ครูผู้ฟังทุกคนตอบ “เข้าใจ”)
5. สร้างวัฒนธรรมใหม่ "โรงเรียนต้องการสิ่งนี้ และท่านได้รับเรียกให้พัฒนาและถ่ายทอดวัฒนธรรมใหม่ที่ตั้งอยู่บนการพบปะระหว่างคนต่างวัย การรวมทุกคนเข้าด้วยกัน การไตร่ตรองสิ่งที่จริง ดี และงานความรับผิดชอบทั้งส่วนตัวและส่วนรวม
เพื่อเผชิญความท้าทายระดับโลก เช่น วิกฤตสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ และความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของสันติภาพ”
6. ความหวังไม่เคยทำให้ผิดหวัง “ความหวังคือ...มอเตอร์ที่ค้ำจุนนักการศึกษาในความพยายามประจำวัน แม้ในความยากลำบากและความล้มเหลว จงตั้งสายตาของเราไว้ที่พระเยซู ผู้เป็นครูและเพื่อนร่วมทาง นี่ทำให้เราเป็นผู้แสวงบุญแห่งความหวังอย่างแท้จริง ความหวังไม่เคยทำให้ผิดหวัง การมองโลกในแง่ดีอาจทำให้ผิดหวัง แต่ความหวังไม่เคยทำให้ผิดหวัง”
พระสันตะปาปาทรงย้ำปิดท้าย Pope Report
—————————-
Jubilee Year 2025: Pilgrims of Hope
🏫 ปีศักดิ์สิทธิ์ 2025..คาทอลิกทั่วโลก⛪️
—————————-
Facebook
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
Linkที่สั้นลง: https://shorturl.asia/YGc87
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย CECT
www.catholic-education.or.th